วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

WEEK 2 : Tadao Ando สถาปนิกผู้ไม่เคยเรียนสถาปัตย์

         Tadao Ando เป็นสถาปนิกชาวญี่ปุ่น โดยผลงานของอันโดจะใช้คอนกรีตหล่อในที่โดยส่วนใหญ่ แนวความคิดในการออกแบบของอันโดจะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติโดยใช้ระบบสัญลักษณ์  เช่น การให้แสงเป็นตัวแทนของธรรมชาติ จะสังเกตได้ว่างานส่วนใหญ่ของอันโดจะไม่มีหน้าต่างที่เปิดให้เห็นทวทัศน์นอกอาคาร แต่มักมีช่องเปิดที่แสงแดดสามารถส่องผ่านได้ แต่ไม่สามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมได้
         ชีวิตในวัยเด็กอันโดได้ทำงานหลายอย่าง เช่นเป็นคนขับรถบรรทุกและนักมวยเพื่อสะสมเงินเพื่อจะเป็นสถาปนิก ซึ่งถือได้ว่าอันโดเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆของญี่ปุ่นและของโลก แต่ทว่าทะดะโอกลับไม่เคยผ่านการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมมาก่อนเลย ความรู้ส่วนใหญ่ได้มาจากการอ่านหนังสือและค้นคว้าด้วยตัวเองทั้งสิ้น

Tadao Ando
(รูปภาพจาก http://www.thegroundmag.com/wp-content/
uploads/Tadao-Ando-The-GROUND-01.jpg)

         ธรรมชาติ-สถาปัตยกรรม

         ในประเด็นที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมกับธรรมชาตินั้น ธรรมชาติในความเห็นของอันโดค่อนข้างจะต่างกับความหมายโดยทั่วๆ ไป ( ของคนทั่วไปหรือของสถาปนิกคนอื่นๆ) อยู่มากพอสมควร โดยพื้นฐานที่สถาปนิกมีชีวิตอยู่ในเมืองอันตกอยู่ในสภาพเสียหายอย่างหนักจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างโอซาก้า อันโดเห็นว่าความพยายามที่จะฟื้นฟูประเทศอย่างเร่งรีบทำให้คนต้องเข้ามากระจุกตัวทำงานในเมือง ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องปกติสำหรับสังคม อุตสาหกรรมทั่วไป แต่ในญี่ปุ่นสถานะการณ์นี้ทำให้โครงสร้างแบบที่เป็นอยู่ต้องสูญสลายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งโครงสร้างสังคมที่ว่านี้ก็คือโครงสร้างแบบกสิกรรมหรือการประมงซึ่งเป็นหัวใจพื้นฐานสำหรับชาวญี่ปุ่นมาก่อน
         มองในแง่นี้ เมืองในฐานะแหล่งรวมที่อยู่อาศัยและเป็นตัวเชื่อมระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่อันโดพยายามจะหลีกเลี่ยง งานสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะบ้านจึงต้องถูกตีความให้เป็นพื้นที่เพื่อปิดตัวเองออกจากสภาพอันสับสนวุ่นวาย (chaos)
         การนำกลับมาของต้นไม้ในเมืองหรือในบ้านก็คือการพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในระดับของความหมายหรือสัญลักษณ์ แม้ว่าสวนสาธารณะขนาดใหญ่ของบางเมืองในญี่ปุ่นหรือในยุโรปจะมีสภาพคล้ายป่าตามธรรมชาติ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามมันก็เป็นเพียงป่าที่มนุษย์สร้างขึ้น และเป็นเพียงในระดับสัญลักษณ์ของธรรมชาติเท่านั้นที่มนุษย์เสพ มันเป็นคนละเรื่องกับการให้ความหมายของการอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติจริงๆ ยิ่งเมื่อมองในระดับของการปลูกต้นไม้ในบ้านยิ่งแล้วใหญ่ ต้นไม้จริงๆที่ลงดิน ต้นไม้ในกระถาง ดอกไม้ในแจกัน ต้นไม้เทียม ดอกไม้เทียม มันเป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติ ที่นอกจากจะไม่ได้ยืนยันว่ามนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติแล้ว ธรรมชาติจอมปลอมเหล่านี้ยังตอกย้ำว่ามนุษย์ไม่ได้อยู่ในธรรมชาติ หากแต่อยู่ห่างจากธรรมชาติในระยะที่ห่างไกลจนไม่สามารถเอื้อมถึงได้ ในความเห็นของอันโด ความหมายของธรรมชาติในลักษณะนี้จึงเป็นความหมายที่ถูกทำให้เสียไป (spoilt) โลกส่วนตัวที่สร้างขึ้นจึงควรที่จะปิดตัวเองออกจากความหมายเหล่านี้ เพื่อเปิดรับธรรมชาติในด้านที่บริสุทธิ์มากกว่า


         ธรรมชาติ-วัฒนธรรม

          วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นนั้นเป็นที่น่าสนใจสำหรับสายตาของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันตก เนื่องด้วยวิธีการมองโลกและอยู่ร่วมที่แตกต่าง ในขณะที่สถาปัตยกรรมตะวันตกเน้นที่การปกป้องมนุษย์ออกจาก สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่ทารุณ สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นกลับใคร่ครวญที่จะยอมรับและเสพสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่ความรู้สึกพื้นฐานเช่นความร้อน ความหนาว ความเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่างๆ แล้วนำมาปรุงแต่งให้กลายเป็นความรู้สึกแห่งความงดงามและความเข้าใจธรรมชาติในแง่มุมของตนเอง
         การเปิดตัวสถาปัตยกรรมออกสู่ธรรมชาติที่ไม่ถูกทำให้เสียความหมายไปด้วยการตั้งคำถามในระดับของวัฒนธรรมนี้เองที่อันโดใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างสถาปัตยกรรม ยกตัวอย่างงานชิ้นแรกๆเช่นเรือนแถวที่สึมิโยชิ ( Row house at Sumiyoshi-Azuma House) ตัวอาคารของเรือนแถวนี้วางตัวแทรกอยู่ในแนวของเรือนแถวขนาดเล็กแบบดั้งเดิม ขนาดของอาคารไม่ใหญ่เกินอาคารเก่าโดยรอบ แต่ที่แปลกตาและโดดเด่นก็คือรูปด้านหน้าของอาคารที่เป็นคอนกรีตปิดทึบ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนบน-ล่างแสดงถึงการแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็นสองชั้น ส่วนของชั้นล่างเปิดเป็นประตูทางเข้าซึ่งเป็นทางเชื่อมต่อเพียงหนึ่งเดียวกับโลกภายนอก โดยนัยที่ว่าทางเข้านี้จริงๆแล้วเป็นการปิดตัวจากโลกภายนอก (เมืองอันสับสน) มากกว่าที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างภายนอก-ภายใน

Row house at Sumiyoshi-Azuma House

(รูปภาพจาก https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/736x
/ec/ce/64/ecce64e250d1600e3e33b38e02d52218.jpg)

รูปด้านของ Row house at Sumiyoshi-Azuma House

(รูปภาพจาก https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/
736x/fa/fe/bb/fafebba50518b70cf7a72787757e5fc2.jpg)


         ธรรมชาติ-วัฒนธรรม-องค์ประกอบ

         ในสภาพพื้นที่ภายในของเรือนแถวสึมิโยชินี้แสงที่ได้รับจากคอร์ตกลางจึงส่องผ่านเข้ามาเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวบอกเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปในพื้นที่ เช่นเดียวกับงานอื่นๆ เช่นบ้านโคชิโนะ ( Koshino House ) วิหารบนภูเขาโรคโคะ ( Chapel on Mt. Rokko ) และวิหารแห่งแสง (Church of the Light) ดังนั้นผนังคอนกรีตของอันโดจึงทำหน้าที่เป็นฉากเพื่อรับแสงมากกว่าที่จะแสดงออกในลักษณะขององค์ประกอบพื้นฐานของผนังหรือการเป็นโครงสร้าง
         ในช่วงเวลาต้นศตวรรษที่ 20 ที่สถาปนิกผู้นี้ทำงานอยู่ คอนกรีตผสมเป็นวัสดุสำหรับการก่อสร้างอาคารที่ค่อนข้างใหม่และน่าตื่นตาตื่นใจ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวัสดุชนิดนี้มีความหมายของการผลิตตามระบบอุตสาหกรรมติดอยู่ ซึ่งระบบการผลิตที่ว่านี้ก็มีความหมายของคุณภาพสำหรับคนหมู่มากติดอยู่อีกมิติหนึ่ง สำหรับสถาปนิกอย่าง เลอ คอร์บูซิเอร์ ซึ่งพยายามเอาชนะความต่างของมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ นั้น คอนกรีตย่อมเป็นวัสดุที่สามารถแสดงออกได้ดีที่สุด ดังนั้นการใช้คอนกรีตของสถาปนิก
สวิส-ฝรั่งเศสผู้นี้จึงต้องพยายามให้คอนกรีตแสดงตัวออกมาได้มากที่สุด รูปทรงที่มีคุณลักษณะทางประติมากรรมจึงจำเป็นต้องถูกเลือกขึ้นมารองรับ

Koshino House 
(รูปภาพจาก http://rubens.anu.edu.au/htdocs/
laserdisk/0236/23671.JPG)


Chapel on Mt. Rokko
(รูปภาพจาก https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/736x/
63/ac/21/63ac215a54631be727d9ec6835a014f1.jpg)




     Church of the Light    
(รูปภาพจาก http://c1038.r38.cf3.rackcdn.com/group1
/building2976/media/media_70925.jpg)



         อันโดได้กระตุ้นให้เราฉุกคิดขึ้นมาว่า ความหมายของสถาปัตยกรรมคงจะไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว การตั้งคำถามบนพื้นฐาน วัฒนธรรมของตนเอง ( แน่นอนว่าแตกต่างกับวิถีแห่งตะวันตกหรือวิถีแห่งโลกาภิวัตน์ที่ครอบงำโลกใบนี้อยู่) อาจจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะนำมาซึ่งคำตอบที่น่าพึงพอใจสำหรับวิถีชีวิตในแต่ละวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมในทัศนะของอันโดจึงเป็นเรื่องของความหมายที่มนุษย์สร้างโลกของตัวเองขึ้นมาสัมพันธ์กับโลกธรรมชาติ แต่โลกธรรมชาตินั้นต้องสัมพันธ์กับวิถีแห่งวัฒนธรรมอย่างแน่นแฟ้นเพื่อให้สถาปัตยกรรมดำรงความหมายที่สัมพันธ์กับวิถีชิวิตอย่างหลากหลายและลึกซึ้งที่สุด


ขอบคุณข้อมูลจาก ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์
"ทาดาโอะ อันโด สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ธรรมชาติและความหมาย." 
, ธรรมชาติ ที่ว่าง และสถานที่. โฟคัลอิมเมจ พริ้นติ้ง กรุ๊ป
เมษายน 2543, หน้า 111-126.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น